วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

การตกแต่งจุกเพื่อการประกวด


การตกแต่งจุกของสุนัขชิห์สุเพื่อการประกวด


1.หลังจากแน่ใจแล้วว่าขนบริเวณ หน้าและหัวของชิห์สุแห้งจริง ๆ ให้แบ่งขนจุกส่วนหน้าจากขอบตาและแต่ละด้านเข้าไปไม่ต้องมากนัก
2.ยีขนส่วนนี้เบาๆให้ทั่ว

3.ค่อยๆใช้หวีหางหนูหวีขนรอบนอกออกให้เรียบ

4.ใช้ยางรัดขนประมาณ 3/4 นิ้วเหนือขึ้นไปจากหนังศีรษะ โดยรัดหนังยาง 2-3 รอบ

5.สำหรับขั้นตอนนี้ค่อนข้างจะสำคัญ โดยจับขนประมาณ 8-10 เส้นหรือ กระจุกเล็กๆตรงกลางของจุกหน้า ดึงขึ้นในขณะที่ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับหนังยางกดลง เพื่อทำให้จุกหน้าโป่งออกมา แต่ถ้าหากยังโป่งไม่พอ ก็อาจใช้หวีหางหนูช่วยอีกที โดยใช้หางหวีดึงขนส่วนในออกมา

6.ใช้เจลทาผม หรือสเปรย์น้ำ ป้ายส่วนนอกเพื่อเก็บขนให้เป็นระเบียบ ดูเรียบร้อย หลังจากที่เจลแห้งแล้วก็ติดโบว์
7.หลังจากนั้นก็รวบจุกหลังอีกจุกหนึ่ง ให้เป็นรูปครึ่งวงกลมหรือจะเป็นรูปตัว V ก็ได้ แล้วแต่ความชอบแต่ที่สำคัญถ้าสุนัขหัวเล็กหรือขนที่หัวบาง ก็รวบขนให้ลึกลงไปอีกหน่อย

8.ต่อจากนั้นฉันจะรัดหนังยางกับขนด้านหลังเหมือนกับที่รัดจุกหน้าแต่คราวนี้ให้ดึงขนมาทางด้านหน้าแทน

9. ผูกจุกหน้าและจุกหลังเข้าด้วยกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความยาวและความหนาของขน ถ้าขนไม่มากก็อาจจะแบ่งครึ่งหลังของของจุกหน้าผูกกับครึ่งหลังของจุกหลัง และถ้าเป็นรุ่น Baby หรือ Puppy ก็ไม่ต้องผูกติดกันก็ได้

10.หลังจากนั้นฉันจะใช้ที่ม้วนผมม้วนเป็นกระจุกเล็กๆ ให้ทั่วทั้งหมดปล่อยให้เย็นแล้วหวีใหม่ให้เป็นเหมือนเดิม แล้วจึงยีแล้วหวีขนส่วนนอกให้เรียบ ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการจัดทรงผมให้เป็นรูปร่างตามที่ชอบแล้วใช้สเปรย์ฉีดผมให้อยู่ทรง

11. .ถ้าหากว่าฝึกฝนอย่างตั้งใจ คุณก็จะได้จุกที่สวยและปลอดภัย


การตกแต่งจุกของสุนัขชิห์สุแบบธรรมดา



1. ใช้หวีแบ่งขนจากขอบนอกระหว่างตาทั้ง 2 ข้าง(ระวังหวีจะทิ่มเข้าตาด้วยนะครับ)

2. รวบขนที่แบ่งไว้ไปด้านหลังและหวีขนรอบนอกและขนบริเวณเหนือใบหูให้เรียบร้อย

3. แบ่งครึ่งส่วนของขนที่แบ่งไว้ในขั้นตอนที่ 1 แล้วหวีขนส่วนหน้าให้เรียบร้อยโดยทดสอบดูด้วยว่าไม่มีสังกะตังแล้ว

4. ใช้ยางรัดขนสุนัข (หรือยางรัดฟันของคนก็ได้) โดยรัด 2-3 รอบแล้วแต่ขนาดของหนังยางหลังจากนั้นให้ดึงขนด้านหลังของส่วนหน้านี้กระจุกเล็กๆ ดึงขึ้นตรงๆ หรือถ้าต้องการให้มีส่วนโป่งด้านหน้าเพื่อให้ดูน่ารักขึ้นอีกนิด ก็อาจใช้หวีหางหนูช่วยดึงขนด้านหน้าออกมาเล็กน้อยก็ได้

5. ขั้นตอนต่อไปก็คือ เก็บส่วนที่เหลือด้านหลังโดยวิธีการเดียวกับการเก็บขนด้านหน้าคือ หลังจากรัดหนังยางแล้วให้ดึงขนกระจุกเล็กๆ ด้านหน้าของส่วนหลังนี้โดยให้ดึงขึ้นตรงๆ

6. สุดท้าย ถ้าจะให้ดูมีสีสันสักหน่อยก็อาจผูกโบว์สีสวยๆไว้ที่จุกด้านหน้าก็ได้ แล้วจึงรัดจุกส่วนหน้ากับส่วนหลังเข้าด้วยกัน แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อย



การทำคลอด และดูแลสุนัขใกล้คลอด



การทำคลอด

การทำคลอดสุนัข




กำหนดคลอดของแม่สุนัขอยู่ในราว 60-63 วัน หลังจากการผสมพันธุ์การเตรียมจัดที่คลอด จะต้องทำล่วงหน้า



การให้ความอบอุ่นแก่ลูกสุนัข ขณะคลอดและหลังคลอด 2-3 วัน นับว่าสำคัญในอนาคตของ ลูกสุนัขมาก ลูกสุนัขได้รับอุณหภูมิจากแม่ของมัน ด้วยความร้อน 101.4 องศาฟาเรนไฮ คือ เท่ากับอุณหภูมิของโลกภายนอก ดังนั้นอาหารที่จะให้แม่มันในวันแรก ๆ ควรจะต้องเป็นอาหาร ที่ก่อให้เกิดความร้อนในตัวมันเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องให้อาหารประเภทบำรุงความเติบโตแต่อย่างใด อย่างน้อยอุณหภูมิขณะคลอดและหลังคลอด 48 ชั่วโมง ควรจะเป็น 105 องศาฟาเรนไฮแต่จาก นั้นจะลดน้อยลงเรื่อยจนถึงปลายสัปดาห์แรกลูกสุนัขจะมีอุณหภูมิปกติและมีความสมบูรณ์ ที่คลอดนั้นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือต้องเป็นที่เงียบ อย่าให้มีสุนัขรบกวนได้

สำหรับที่นอนของมัน
ลูกสุนัขนั้นควรเป็นหีบไม้แข็งแรง กว้างใหญ่พอเหมาะแก่จำนวน ลูกสุนัข แต่ถ้าหากเป็นคอกเล็ก ๆ จะใช้หีบขาตะแคงก็เหมาะดีเหมือนกัน ถ้าใช้ชนิดหีบปิดฝาปิดจะ ต้องปิดเปิดได้คล่อง ๆ

พื้นที่นอนคลอด
ควรปูด้วยกระสอบที่สะอาดหรือวัตถุอื่นซึ่งเวลาไม่ต้องการใช้จะได้ ทำลายเสียเลย โดยปกติแม่สุนัขมักจะชอบกัดแทะเครื่องปูนอนเหล่านี้เพื่อปรับปรุงที่นอนของมัน ฉะนั้นควรให้แม่สุนัขคุ้นเคยกับที่นอนของมันสัก 1-2 สัปดาห์ก่อนวันคลอด

การออกกำลังให้สุนัข
ขณะมีครรภ์นับว่าสำคัญมากจะละเลยเสียมิได้จนกระทั่งถึงสัปดาห์สุดท้าย แม้ตัวมันจะหนักอุ้ยอ้ายสักเพียงไร ก็ควรให้เดินในระยะใกล้ ๆ และที่เงียบ ๆ ควรให้เล่นกับสุนัขอื่น ๆ บ้างเป็นครั้งคราวยิ่งใกล้วันคลอดแม่สุนัขจะเริ่มจัดรังนอนของมันด้วยการ กัดสิ่งของที่มันพบอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ฉะนั้นหากจะใช้ผ้าห่มดี ๆ แล้วไม่ควรให้มันในระยะนี้

อาการแสดงว่าจะคลอดนั้นคือ






ช่องคลอดจะบวมโตและนุ่มจะมีเมือกลื่น ๆ ไหลออกมา สุนัขจะไม่ยอมกินอาหาร และแสดงว่าจะคลอด อาการเช่นนี้จะมาก่อนการคลอดจริงราว ๆ 24 ชั่วโมง



ระยะที่ 2 เมื่อการคลอดจะสำเร็จผลก็ต่อเมื่อมดลูกทำการบีบรัดตัวและบีบลูกสุนัขให้ผ่านจากช่อง คลอดออกมา ขณะนี้แม่สุนัขจะรู้สึกเจ็บปวดยิ่งขึ้นและร้องครวญคราง อาจเป็นเสียงดังหรือเสียง แหลมเป็นระยะ ๆ และก็ดังยิ่งขึ้น ในไม่ช้าก็จะมีเมือกลื่น ๆ ไหลออกจากช่องคลอด ตามธรรมดา ลูกสุนัขจะโผล่หัวและขาหน้าก่อน แต่ก็มีบ่อยที่หางออกก่อนโดยปราศจากความลำบาก เว้นแต่จะเป็น ลูกสุนัขนั้นหัวโต การคลอดในลักษณะอย่างนี้จะทำให้เจ็บปวดและยุ่งยาก ขณะที่หัวสุนัขโผล่ออกมา นั้นเองแม่สุนัขจะได้รับความเจ็บปวดและร้องดัง ตามธรรมดาลูกสุนัขขณะคลอดจะถูกหุ้มอยู่ในถุง เยื่อเหนียว ๆ ซึ่งแม่สุนัขจะกัดเลียเพื่อแยกให้ลูกออกมา แต่ถ้าหากมันทำเองไม่สำเร็จ ผู้พยาบาล ต้องคอยช่วยเหลือมันทันที มิฉะนั้นลูกสุนัขจะตาย
ลูกสุนัขขณะคลอดออกมาจะยังคงถูกล่ามกับแม่ของมันโดยสายสะดือ ซึ่งติดต่อไปยังรก และรก นี้ก็ออกมาจากช่องคลอดของแม่สุนัข หลังจากลูกสุนัขได้คลอดออกมาแล้ว รกนี้แม่สุนัขจะกินทันที และขบไต่ไปตามสายสะดือ จนกระทั่งเกือบถึงสะดือของลูกสุนัข ถ้าหากแม่สุนัขไม่ทำเช่นนั้นผู้พยาบาล จะต้องรีบตัดสายสะดือให้ห่างสายสะดือของลูกสุนัข 1 คืบด้วยกรรไกรที่สะอาด แล้วมัดด้วยด้าย เหนียว ๆ สายสะดือที่แห้งจะหลุดออกมาพร้อมกับด้ายที่มัดภายในไม่กี่วัน
ต่อจากนั้นแม่สุนัขก็จะเข้าเลียลูกของมันให้แห้ง และในขณะนี้เอง ลูกสุนัขตัวที่อยู่ในท้องก็จะ เคลื่อนออกมา แม่สุนัขก็จะจัดการกับลูกสุนัขเช่นเดียวกับวิธีการที่กล่าวมาแล้วจนกระทั่งคลอดเป็น ตัวสุดท้าย บางครั้งลูกสุนัขคลอดมาเร็วมากแม่ของมันไม่ทันที่จะมีเวลาเลียลูกตัวที่ออกก่อนให้แห้ง ถ้าเป็นเช่นนี้ ผู้พยาบาลต้องใช้ผ้าเช็ดตัวอุ่น ๆ เช็ดให้แห้งแล้วนำไปไว้เสียอีกมุมหนึ่ง อย่างไรก็ดีจะ ปล่อยให้ลูกสุนัขให้เปียกชื้นและหนาวสั่นย่อมเป็นอันตราย ระหว่างคลอดหากแม่สุนัขแสดงอาการ อ่อนเพลีย ควรจะให้นมอุ่น ๆ แก่แม่สุนัขสักหน่อย ในระหว่างที่คลอดลูกยังไม่หมด และเมื่อคลอด หมดแล้ว ก็ควรให้ต่อไปอีกสักถ้วยแล้วจึงปล่อยให้มันนอนกับลูกสัก1-2 ชั่วโมง หลังจากนี้จึงควร ให้ทั้งลูกและแม่สุนัขขึ้นนอนในที่ ๆ มีความอบอุ่นและสงบเงียบ




การดูแลบำรุงเลี้ยง

สัก2-3ชั่วโมงต่อมา แม่สุนัขก็จะออกจากที่นอนมาถ่ายมูล ขณะนี้ควรให้อาหารน้ำอุ่น ๆแก่มัน ขณะนี้ แม่สุนัขย่อมอยู่ในอาการที่ธาตุไม่ปกติในระหว่างที่ต้องทำการคลอดลูก และถ้าหากมันกินรกเข้าไปด้วย นักเพาะเลี้ยงสุนัขบางท่านไม่ยอมให้แม่สุนัขกินรกหรือเครื่องในของมันเอง แต่ก็ต้องถือว่าเป็นสัญชาตญาณของสัตว์อย่างหนึ่ง แต่ในการที่มันได้กินอวัยวะภายในสด ๆ ของตัวมันเองเข้าไปเช่นนั้นก็ย่อมได้ รับฮอร์โมนหรือน้ำสกัดของชีวิต

การดูแลภายหลังการคลอด



หลังการคลอดสัก 2-3ชั่วโมง แม่สุนัขควรได้รับการเอาใจและควรให้ได้กินอาหารเหลว ๆ อุ่น ๆ ถ้ามัน กินรกเข้าไปย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ท้องของมันจะไม่เป็นปกติในระหว่าง2-3วันแรกหลังการคลอด มูลที่ถ่ายออกมาจะมีสีดำคล้ายน้ำมันดิน ทั้งนี้เนื่องจากโลหิตที่กินเข้าไป ในระยะวันหรือสองวันแรก ควรสังเกตแม่สุนัขให้ดี เพราะว่าลูกสุนัขยังค้างอยู่ในท้องหรือไม่ ตามที่ทราบกันมาอาจเป็นเช่นนั้นได้ ถ้าหากเป็นเช่นนั้นก็จะสังเกตได้ว่า แม่สุนัขจะพยายามเบ่งเหมือนเมื่อทำการคลอดใหม่ ๆ ในกรณีเช่น นี้ให้ไปตามสัตวแพทย์มาทำการผ่าตัดโดยด่วน ผู้ที่มีความชำนาญอาจใช้นิ้วมือที่ชุบยาฆ่าเชื้อแล้วล้วง เข้าไปในช่องคลอดเพื่อทำการตรวจสอบอย่างระมัดระวัง หากเห็นว่ามีอะไรผิดปกติจะเรียกสัตวแพทย์ มาทำการผ่าตัดโดยไม่ชักช้า บางทีอาจมีอุปสรรคอันร้ายแรงเนื่องจากตำแหน่งที่ลูกสุนัขติดอยู่นั้นจำ เป็นต้องทำการผ่าตัดเอาออกทันที ในกรณีนี้ การชักช้าอยู่นานเท่าไรก็เป็นอันตรายมากเท่านั้น เป็นธรรมดาที่แม่สุนัขจะมีโลหิตออกมาเปื้อนเปรอะอยู่เป็นเวลาหลายวันหลังการคลอดแล้ว มันจะค่อย ๆ จางลง ๆ และจะหยุดในปลายสัปดาห์ที่1หรือ2 ตามธรรมดาอุณหภูมิ(ปรอท) จะขึ้นสูงหนึ่งดีกรีหรือ ราว ๆ นั้นหลังคลอดแล้วมันควรจะกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติในราว 8 ชั่วโมง ต่อมาถ้ามีไข้ขึ้นสูงก็จะแสดง ให้ทราบว่า มีอะไรผิดปกติและต้องคอยตรวจสอบดูแลโดยไม่ชักช้า

การคลอดผิดปกติ



แนะนำที่ดีที่สุดสำหรับการคลอดที่ไม่ปกติผิดไปจากธรรมดาก็ควรพบให้สัตวแพทย์ช่วยโดยด่วน ความลำบากในการคลอดอาจเป็นด้วยว่าลูกสุนัขอยู่ในท่าผิดปกติเนื่องจากความอ่อนแอ การหดตัว ของมดลูก หรือรูปร่างของแม่สุนัขผิดส่วนสัด และอาการเหล่านี้ผู้สมัครเล่นไม่อาจจะแก้ให้หายได้ การกระทำง่าย ๆ บางทีอาจจะทำให้ลูกสุนัขออกมาได้แต่อย่างไรก็ดีในเรื่องนี้จำเป็นต้องมีความรู้ เกี่ยวกับกายวิภาควิทยาและมีความชำนาญในการตรวจรู้ได้ว่าอะไรผิดปกติและสามารถแก้ไขให้ดีได้ หลักสำคัญยิ่งในการคลอดก็คือให้ตามสัตวแพทย์ ถ้าแม่สุนัขทำการเบ่งจนอ่อนกำลังลง (มีอาการ หอบเบ่ง) มาเป็นเวลาถึง 3ชั่วโมงแล้ว ลูกสุนัขยังไม่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถุงเยื่อหุ้มโผล่มา และแตกไปแล้ว อาการเช่นนี้ควรจัดการโดยด่วนไม่ว่าเป็นการคลอดลูกสุนัขตัวแรกหรือตัวอื่นถัดไป ก็ตาม การทอดระยะออกของลูกสุนัขจะห่างกันราว 15ถึง30 นาทีแต่อาจจะออกถี่กว่านี้ก็ได้ การดูแลระหว่างคลอด ควรจะสังเกตุดูด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างดีถ้าผิดปกติควรให้ไปตาม หมอสัตวแพทย์ ทันที ซึ่งเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการที่จะหลีกเลี่ยงการสูญเสียแม่สุนัขที่ดีไป\

การป้องกันโรค



การป้องกันโรค

ผู้เลี้ยงควรต้องมีเวลาให้กับสุนัข เพื่อทำความคุ้นเคยและศึกษาสุนัขแต่ละตัว ต้องคอยเอาใจใส่สังเกตความเป็นอยู่ การกินอาหาร การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นอกจากนี้ควรจะต้องมีความรู้ พื้นฐานเกี่ยวกับสุนัข โรคต่างๆ เมื่อสุนัขเกิดอาการเจ็บป่วยจะได้นำไปรักษาได้ทันที
โรคที่เกิดกับสุนัขมีหลายชนิดและมักเกิดการระบาดอยู่เสมอทุกปี หลายโรคอาจร้ายแรงทำให้สุนัขพิการหรือเสียชีวิต ทั้งอาจติดต่อถึงคนภายในบ้านด้วย การหมั่นเอาใจใสในตัวสุนัขและดูแลสุขภาพทั่วไปของสุนัขจึงนับเป็นการป้องกันโรคเบื้องต้นที่ดีที่สุด อาการของสุนัขที่เริ่มป่วยสังเกตได้จาก อาการเซื่องซึม ,ไม่ร่างเริงแจ่มใส, ไม่กินอาหารหรือกินอาหารน้องลง, อาเจียน, มีอาการท้องร่วง, ท้องผูก, ผอมลง,ขนหยาบกระด้าง, ผิวหนังเป็นผื่นแดง, ตาแฉะ, จมูกแห้งหรือมีน้ำมูก หากสุนัขมีอาการดังกล่าว ควรทำการรักษาหรือนำสุนัขไปหาสัตวแพทย์








โรคสุนัขหลายโรคสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนตามกำหนดเวลาที่เหมาะสม หลังการฉีดวัคซีนควรงดอาบน้ำภายใน 1 สัปดาห์ เพราะสุนัขอาจมีไข้เล็กน้อยจากปฏิกิริยาต่อวัคซีน ดูแลให้สุนัขกินยาตามเวลาที่สัตวแพทย์กำหนด รวมทั้งควรแยกสุนัขตัวที่ป่วยออกจากตัวปกติ สิ่งที่ช่วยให้สุนัขรอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บได้อีกประการหนึ่งคือ การรักษาความสะอาด ทั้งของสุนัขและสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย กำจัดเห็บ หมัด ยุง หนู หรือทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์ที่เป็นพาหะเหล่านี้







กำหนดการปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคของสุนัข



อายุ ข้อปฏิบัติ

3 สัปดาห์ ตรวจอุจจารและถ่ายพยาธิ
2 เดือน ฉีดวัคซีนป้องอกันโรคไข้หัดสุนัข โรคพาร์โวไวรัส เลปโตสไปโรซีส ตับอักเสบติดต่อ
3 เดือน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และถ่ายพยาธิ
4 เดือน ฉีดซ้ำเช่นเดียวกับเมื่ออายุ 2 เดือน
6 เดือน ตรวจเลือดเพื่อหาโรคพยาธิหนอนหัวใจและตรวจซ้ำทุก 6 เดือน
ทุกปี พบสัตวแพทย์เพื่อนตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจอุจจาระและถ่ายพยาธิทุก 6 เดือน และฉีดวัคซีนซ้ำทุกอย่าง

การดูแลความสะอาดของชิห์สุ

การดูแลความสะอาดของชิห์สุ

ที่อยู่ที่นอน


สุนัขควรมีที่หลับนอนของมันเองที่เป็นที่เป็นทางและเป็นสัดส่วน จะเลี้ยงสุนัขไว้ในบ้านหรือนอกบ้านก็แล้วแต่ความพร้อมของเจ้าของและสมาชิกคนอื่นในครอบครัว ส่วนใหญ่หากมันยังเล็กก็นิยมเลี้ยงไว้ในบ้านเพื่อสะดวกในการดูแล และทำให้มันสนิทสนมกับคนในบ้านได้ง่าย แต่ต้องคอยดุแลเรื่องการขับถ่ายให้เป็นที่เป็นทาง จัดที่นอนสำหรับลูกสุนัขไว้ในลังไม้หรือตะกร้าตั้งไว้มุมห้องเงียบ ๆ สักมุมหนึ่ง หรืออาจใช้เพียงผ้าผวยเก่า ๆ หรือเศษผ้านุ่ม ๆ หลายชั้นทำเป็นที่นอนขนาดเล็กใหญ่ ก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม
หากมีอาณาบริเวณบ้านมากพอ หรือต้องการเลี้ยงไว้นอกบ้าน ซึ่งมันก็ต้องการที่คุ้มแดดคุ้มฝน หรือหลบร้อนตอนกลางวัน การสร้างคอกหรือกรงเลี้ยงจึงเป็นสิ่งจำเป็น ขนาดกรงควรกว้างพอให้มันเบียดตัวหรือกลับตัวได้ง่ายและสูงพอที่มันจะยืนได้ บริเวณที่ตั้งกรงหรือคอกเลือกเอาที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทได้ดีไม่อับชื้น และควรติดมุ้งลวดเพื่อกันยุงและแมลงให้มันด้วย

การอาบน้ำ

ตามปกติไม่นิยมอาบน้ำให้ลูกสุนัขบ่อยเกินไป เพราะจำทำให้น้ำมันที่เคลือบเส้นขนหมดไป ทำให้ผิวหนังและเส้นขนแห้งไม่เป็นมัน เกิดอาการคัน สุนัขจะกัดหรือเกาให้เป็นแผล นอกจากนี้สุนัขยังแพ้ต่อการเป็นโรคทางระบบหายใจ โดยเฉพาะ จะเป็นโรคปอดบวมได้ง่าย เพราะฉะนั้นหาไม่จำเป็นจริง ๆ แล้วก็ไม่ควรอาบน้ำให้สุนัข
สำรับลุกสุนัขอาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดให้แห้งตามตรงที่ตัวสกปรก หรือใช้แปรงและการหวีขนบ่อย ๆ ก็จะรักษาความสะอาดได้ดีโดยไม่ต้องอาบน้ำ เมื่อสุนัขโตขึ้นอาจจะอาบน้ำให้ด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นให้เพียงอาทิตย์ละครั้งก็พอ หรือเมื่อเห็นว่ามันสกปรกมาก มีกลิ่นเหม็นแล้ว การอาบน้ำควรอาบให้ในเวลาที่มีแดดออก อากาศไม่หนาวมาก ใช้สบู่หรือแชมพูอย่างอ่อน ถูให้ทั่วตัวและหัว ระวังไม่ให้ฟองสบู่เข้าตาและน้ำเข้าหู จากนั้นต้องล้างสบู่ออกให้หมด เพราะถ้าล้างออกไม่หมดจะทำให้เกิดการคันจนสุนัขเกาเป็นแผล เสร็จแล้วจึงเช็ดตัวสุนัขให้แห้ง


การกำจัดและป้องกันเห็บ

เห็บ หมัดและแมลง เป็นพาหะนำโรคบางชนิดมาสู่สุนัข ถึงแม้ไม่เกิดโรคก็จะทำความรำคาญให้สุนัขมาก เห็บหรือหมัดที่มีในสุนัขส่วนมากมักเกิดจากเจ้าของที่ไม่ดุแลสุนัขเท่าที่ควร
หมัด หรือเห็บมักเกาะกินเลือดอยู่ตามบริเวณผิวหนังอ่อน ๆ ของสุนัข เช่น รอบคอ ริมฝีปาก บริเวณหลังเลยหางขึ้นไป ตามซอกเล็บ และตามบริเวณก้นการกำจัดเห็บ หมัด อาจใช้น้ำมันสนหยดลงไปให้ถูกตัวเล็กน้อย จะทำให้มันหลุดออกมา หากดึงหมัดหรือเห็บขณะที่มันกำลังกัดติดอยู่กับบริเวณผิวหนังแรง ๆ อาจทำให้ผิวสุนัขเป็นแผล การป้องกันกำจัดเห็บหรือหมัดอาจใช้วิธีรักษาความสะอาดตัวสุนัข ใช้อุปกรณ์ในการกำจัดเห็บ เช่น ยกกำจัดเห็บ แป้งกำจัดเห็บ แชมพูกำจัดเห็บ ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์หรือทำด้วยความระมัดระวัง ควรทำการจับหมัดหรือเห็บทุก ๆ อาทิตย์ และทำความสะอาดที่นอนสุนัขด้วย แต่การฆ่ากำจัดเห็บเฉพาะที่ตัวสุนัข ไม่สามารถแกปัญหาได้ตลอด เพราะเห็บหรือหมัดเล่านี้จะอาศัยอยู่บริเวณที่อยู่ของสุนัข ดังนั้นควรใช้ยาฆ่าเห็บผสมกับน้ำผสมกับน้ำราดตามบริเวณที่สุนัขอาศัยอยู่ด้วย การกำจัดสิ่งเหล่านี้จะต้องทำอย่างต่อเนื่องจึงจะประสบความสำเร็จ


แปรงขน สางขน

หมาขนยาวทั้งหลายจำต้องได้รับการแปรงขนและสางขนอย่างน้อยวันละครั้ง เพื่อป้องกันการพันติดและเกาะกันเป็นก้อน สิ่งเหล่านี้เป็นบ่อเกิดของโรคผิวหนังอักเสบเพราะเป็นแหล่งหมักหมมสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ รวมถึงเชื้อโรคมากมาย

ส่วนหมาขนสั้นก็จำเป็นต้องดูแลแปรงขน เพียงแต่น้อยกว่าพวกขนยาวหน่อย อาจแปรงขนอาทิตย์ละครั้งก็พอถ้าไม่มีความสกปรกมาก
เครื่องมือที่ใช้ในการแปรงขนและสางขนที่สำคัญคือ แปรง ซึ่งมีหลายชนิด ซี่ถี่ห่าง ต่าง ๆ กัน ความแข็งนุ่มของแปรง ความยาวของซึ่งแปรง สิ่งเหล่านี้ทำมาเพื่อให้เหมาะกับการขนหมาชนิดต่าง ๆ เช่น แปรงซี่หยาบ ขนแข็งใช้กับหมาจนยาวหรือแปรงซี่หยาบห่างมาก แข็งเป็นพิเศษ เหมาะกับการสางขนที่ติดกันนุงนัง เป็นต้น


นอกจากนี้ควรเตรียมหากรรไกรไว้ตัดขนที่พันกันยุ่งอีกด้วย

ตัดเล็บ

หมาที่เลี้ยงปล่อยวิ่งเล่นตามสนามหญ้าหรือพื้นซีเมนต์ทั่วไปแล้วเล็บจะมีความสึกหรอเองโดยการเสียดสีกับพื้นมักไม่ต้องมาตัดให้เสียเวลา อย่างมากก็เล็ม ๆ เป็นบางเล็บให้เสมอกับส่วนที่สึกกว่า ส่วนหมาที่เลี้ยงอยู่ภายในบ้านวิ่งบนพรมหรือพื้นหินขัดตลอดเวลาเล็บจึงยาว เมื่อตะกุยตะกายเจ้าของ เบาะ หรือประตูทำให้เกิดรอยขีดข่วนอย่างเห็นได้ชัด จำเป็นอยู่ที่จะต้องหมั่นตรวจดูแลและตัดอย่างสม่ำเสมอ การติดเล็บหมาควรทำหลังอาบน้ำเพราะเล็บที่เปียกน้ำมาจะอ่อน ตัดง่าย ควรใช้กรรไกรที่ทำมาเพื่อตัดเล็บหมาโดยเฉพาะซึ่งจะง่ายและปลอดภัย
เทคนิคสำคัญคือ ต้องคอยสังเกตดูส่วนที่มีเลือดมาเลี้ยงในเล็บจะมองเห็นเป็นสีชมพูแดง
**ระวังอย่างไปตัดโดนโคนเล็บ

เช็ดหู ทำความสะอาดหู

หูหมาก็เช่นเดียวกับหูคน มีการสร้างขี้หูออกมาตลอดเวลาเพื่อเป็นการขับสิ่งสกปรกและแปลกปลอมที่อาจเข้าหู หมาบางตัวมีขี้หูมาก แต่บางตัวก็มีน้อย แตกต่างกันไป เจ้าของต้องหมั่นตรวจดูด้วยสายตาว่ามีคราบไคลของขี้หูมากน้อยแค่ไหน มีหนองออกมาหรือไม่ ฯลฯ ประกอบกับใช้จมูกช่วยด้วย คือ ดมกลิ่นหาความผิดปกติ เช่นเหม็นมากขึ้นกว่าเก่าหรือไม่

โดยปกติแล้วเจ้าของสามารถใช้สำลีหรือผ้านิ่ม ๆ เช็ดบริเวณหูและรูหูส่วนนอก ได้เป็นประจำ ส่วนใหญ่มักทำกันหลังอาบน้ำซึ่งเป็นเป็นการดีเพราะสามารถตรวจสอบได้ว่ามีน้ำหลงเข้าไปในหูบ้างหรือเปล่า ถ้ามีจะได้เช็ดออกให้แห้งเป็นการป้องกันโรคหูอักเสบได้ด้วย
**ไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้าไปล้างหูนะครับ


เช็ดตา ล้างตา

หมาปกติสมบูรณ์ไม่ควรจะมีขี้ตาแฉะหรือเกรอะกรังรวมทั้งน้ำตาไหลเป็นคราบอยู่เสมอ เมื่อเจ้าของหมาพบเข้า นั่นแหละคือต้องมีอะไรผิดปกติแล้ว หากยังไม่มีเวลาไปหาหมอก็อาจทำความสะอาจดูแลรักษาไปพลางก่อน ก่อนโดยการใช้น้ำยาล้างตาหลดลงไปบนผิวกระจากตา 4-5 หยด เป็นระยะ ๆ เพื่อให้น้ำยาล้างตาชะเอาสิ่งสกปรกรวมถึงขี้ตาด้วย จากนั้นใช้กระดาษทิชชูซับรอบ ๆ ภายนอกซับให้แห้ง

กรณีที่มีน้ำตาไหลเป็นคราบอยู่เป็นเวลาเนิ่นนานมากแล้ว คราบน้ำตาไหลเหล่านั้นมีคุณสมบัติเกาะติดขนและผิวหนังได้ดีมาก ทำให้เป็นรอบคราบน้ำตาติดแน่นอยู่ที่ 2 ข้างหัวตาย้อยลงมาถึงมุมปาก สิ่งที่จะทำได้โดยการหมั่นเช็ดถูให้บ่อยครั้งขึ้นทุก ๆ วัน ขนที่ติดคราบน้ำตาอยู่จะค่อย ๆ หลุดร่วงไปวันละเล็กวันละน้อย จนขนใหม่ไม่มีคราบน้ำตางอกขึ้นมาแทนที่เต็มหมดแล้วรอยคราบดังกล่าวจะหมดไป
การดูแลสุขภาพ


การทำหมัน

หากไม่ต้องการให้มีลูกสุนัขเกิดเกินจำนวนที่จะเลี้ยงได้ หรือเพื่อเสี่ยงกับการผสมพันธุ์ในครอกได้ลุกสุนัขผิดลักษณะควรทำหมันให้กับสุนัข นอกจากนั้น การทำหมันจะช่วยลดความวุ่นวายเนื่องจากพฤติกรรมของสุนัขในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
การทำหมันสุนัขตัวผู้สามารถกระทำได้เมื่ออายุ 7-8 เดือนขึ้นไป สำหรับตัวเมียควรทำเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป หรือหลังจากมีประจำเดือนครั้งแรกไปแล้ว 1 เดือน และไม่ควรทำหมันเมื่อสุนัขมีอายุมากแล้ว


การให้อาหารและนมตามวัย







การให้อาหาร



การให้อาหารลูกสุนัข

หลักปฏิบัติที่ถูกต้องสำหรับการให้อาหารแก่ลูกสุนัข
ลูกสุนัขที่เกิดใหม่ ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในเรื่องของอาหารการกิน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดื่มน้ำนมจากแม่ไปก่อนในช่วงแรก ๆ และเราผู้เป็นเจ้าของควรได้มีโอกาสดูแลเพิ่มเติมเพื่อให้ลูกสุนัขที่เกิดออกมามีชีวิตรอด และสมบูรณ์ปลอดภัย จะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด


ลูกสุนัขที่อยู่ในระหว่างกินนมแม่และหลังหย่านมใหม่ ๆ เป็นช่วงที่ลูกสุนัขต้องการโปรตีนสูงมาก อายุจากแรกเกิดถึง 1 เดือน โปรตีนได้จากน้ำนมแม่ แต่หลังจาก 1 เดือนไปแล้ว แม่สุนัขจะแสดงอาการเกรี้ยวกราดขู่คำราม เมื่อลูกของมันจะกินนม ช่วงนี้เราจะต้องให้ลูกสุนัขได้อาหารจากจานใส่อาหารแทน กล่าวคือ หลังจากที่ลูกสุนัขได้คลอดออกมาสู่โลกภายนอกใหม่ ๆ จะยังไม่ลืมตา แต่จะใช้จมูกนำทางและตะเกียกตะกายหาเต้านมดูดเอง ดังนั้นเพื่อให้ลูกสุนัขได้รับน้ำนมเหลืองจากแม่เร็วขึ้น ควรช่วยจับลูกสุนัขใส่เต้านมแม่ ต่อไปลูกสุนัขจะหาเต้านมกินได้เอง จากระยะนี้ต่อไปผู้เลี้ยงเพียงแต่คอยระวังอย่าให้แม่สุนัขทับลูก และคอยดูแลให้ลูกสุนัขที่อ่อนแอได้มีโอกาสกินน้ำนมแม่อิ่มเท่านั้น เพราะลูกสุนขที่แข็งแรงกว่ามากจะแย่งเต้านมและดูดกินหมดก่อนเสมอ

สำหรับลูกสุนัขที่มีขนาดครอกใหญ่คือ มีจำนวนมากเกินไป น้ำนมแม่มีไม่พอให้กิน ควรเพิ่มน้ำนมโคให้กินทดแทน เพื่อป้องกันไม่ให้แม่สุนัขมีสุขภาพทรุดโทรมลงมาก โดยให้กินน้ำนมโคทดแทนเมื่อลูกสุนัขมีอายุได้ 3 สัปดาห์ วิธีหัดให้ลูกสุนัขกินน้ำนมนี้ก็โดยใส่น้ำนมไว้ในจานปากกว้างและตื้น ๆ แล้วจับลูกสุนัขให้ปากจุ่มลงในน้ำนม ลูกสุนัขจะเลียและกินได้เอง

แต่ถ้าแม่สุนขไม่มีน้ำนมหรือเต้านมอักเสบเป็นโรคไม่สามารถให้ลูกกินนมได้ อาจนำลูกไปฝากแม่สุนัขตัวอื่นได้

ควรหย่านมเมื่อลูกสุนัขมีอายุได้ประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนขึ้นไปอย่างน้อย การหัดให้ลูกสุนัขหย่านมนี้อาจทำได้โดยการให้อาหารทดแทน ซึ่งผสมได้โดยใช้น้ำนมอุ่น ๆ 1 ถ้วย ผสมกับน้ำหวาน 1 ช้อน และน้ำอุ่น 1 ถ้วย ใส่อาหารผสมนี้ในจานปากกว้างและตื้น ๆ และหัดให้ลูกสุนัขกินโดยจับหัวลูกสุนัขให้ปากจุ่มลงในจานอาหาร ลูกสุนัขจะเลียและเริ่มกินได้เอง ต่อมาก็ให้อาหารอื่น เช่น เนื้อ เนื้อปลา ลูกชิ้น และไข่ เป็นต้น เพิ่มลงไปในอาหารผสมทีละน้อย จนกระทั่งกินอาหารนี้ได้โดยไม่ต้องมีน้ำนม

ในระหว่างการหัดให้หย่านมนี้ควรแยกแม่ออกจากลูกสุนัข และให้ลูกสุนัขกินนมห่างขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับให้อาหารดังกล่าวเสริมทดแทน จนกระทั่งไม่ต้องกินนมแม่อีกต่อไป ครั้นเมื่อมีอายุ ได้ 4 สัปดาห์ก็ให้ทำการถ่ายพยาธิเสีย และเมื่อมีอายุได้ 5 - 6 เดือนขึ้นไปก็ให้กินอาหารประมาณ 3.5 % ของน้ำหนักตัว ควรให้อาหารวันละ 3 เวลา ประมาณ 3 เดือน แล้วจึงค่อยลดลงให้เหลือวันละ 2 เวลา สำหรับสุนัขที่มีอายุ 8 - 9 เดือนเต็ม

เทคนิคการให้นมลูกสุนัข

วิธีการให้นม

ควรป้อนนมโดยใช้ขวดนมแก่ลูกสัตว์กำพร้า ขวดที่เหมาะสมสำหรับลูกสุนัขและลูกแมวควรเป็นขวดขนาด 2 ออนซ์ รูที่หัวนมควรมีขนาดใหญ่พอที่จะให้น้ำนมไหลผ่านไปอย่างช้าๆ เพื่อให้ได้รับอย่างเต็มที่ ลูกสุนัขที่มีอายุมากขึ้น ขนาดตัวโตขึ้นควรเปลี่ยนไปใช้ขวด 4 ออนซ์ ที่หยอดตาหรือหลอดฉีดยาปลายทื่อ จะใช้ได้ดีกรณีที่ลูกสัตว์กำพร้านั้นมีขนาดเล็กมากๆ หรืออ่อนแอเกินกว่าจะให้นมออกจากขวดในขณะที่หัวนมยังอยู่ในปาก ลูกสัตว์เนื่องจากจะทำให้น้ำนมเข้าปอด ซึ่งมีผลให้เกิดปอดบวมหรือตายได้

การให้นมลูกสัตว์กำพร้าโดยทางสายยางจะสะดวกและรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ต้องให้นมลูกสัตว์พร้อมกันทีละหลายตัว แต่อย่างไรก็ตามการวางสายยางไม่ถูกตำแหน่งการใช้ผิดวิธีหรือการให้นมเร็วเกินไปก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือตายได้ ดังนั้นก่อนที่จะทำการให้นมลูกสุนัขหรือลูกแมวกำพร้าโดยใช้สายยางจึงควรฝึกการใช้อย่างถูกวิธีให้มีประสบการณ์ก่อน
การจัดการให้นม


อุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้ในการให้นมจะต้องคำนึงถึงเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ ต้องอุ่นนมก่อนาทุกครั้ง การให้นมเย็นๆ แก่ลูกสัตว์กำพร้าอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงจนถึงจุดวิกฤต
ลูกสุนัขกำพร้าในช่วงอายุสัปดาห์แรก (น้ำหนักประมาณ 200-300 กรัม) อาจให้น้ำนมทดแทนประมาณ 10 มิลลิลิตร (2/3-3/4 ช้อนโต๊ะ) สำหรับการให้ครั้งแรก สำหรับลูกแมวที่มีน้ำหนักประมาณ 90-140 กรัม ควรให้น้ำนมทดแทน 5 มิลลิลิตร

สำหรับการให้ครั้งแรก ลูกสัตว์ที่ได้รับนมโดยทางขวดนมจะปฏิเสธหัวนมเมื่ออิ่ม
ผู้มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกสัตว์กำพร้าส่วนใหญ่มักนิยมอุ้มลูกสัตว์ในขณะที่ป้อนนม โดยยกหัวของลูกสัตว์สูงขึ้น และยืดอกเล็กน้อยในขณะที่อุ้มสัตว์ไว้ในอุ้งมือ ควรส่งหัวนมเข้าปากลูกสัตว์แล้วยกขึ้นดึงกลับเล็กน้อย การทำเช่นนี้จะช่วยยกหัวสัตว์ขึ้นและทำให้ลูกสัตว์ดูดนมได้ดีขึ้น ถ้าระหว่างการให้นมมีน้ำนมไหลออกมาทางจมูกควรลดอัตราเร็วของการให้นมลง ถ้ายังไม่หายควรตรวจดูช่องปาก เพื่อดูว่ามีเพดานปากโหว่ (Cleft Palate) หรือไม่


สำหรับการเลี้ยงดูลูกสัตว์กำพร่าในช่วงสัปดาห์แรกของชีวิต ปริมาณนี้นมทดแทนที่ให้ในแต่ละวัน ไม่ควรเกิน 10% ของน้ำหนักตัวใน 2-3 วันแรก การให้ในครั้งที่ 2 และ3 ควรมีปริมารณน้ำนมเท่ากับที่ให้ในครั้งแรกจากนั้นปรับตามวิจารณญาณและความเหมาะสม ลูกสัตว์ที่มีอายุมากกว่าหรือพันธุ์ใหญ่อาจพิจารณาเพิ่ม ปริมาณน้ำนมให้มากขึ้นได้ถ้าลูกสัตว์นั้นกินนมได้ดีในครั้งแรกๆ และมีการทำงานของลำไส้ปกติ

เนื่องจากลูกสัตว์กำพร้าจะต้องมีการปรับระบบการย่อยอาหารให้คุ้นกับน้ำนมทดแทน ดังนั้นการให้น้ำนมทดแทนในปริมาณที่น้อยกว่าปริมาณที่ลูกสัตว์ต้องการ จึงเป็นการดีกว่าการให้เกินปริมาณที่ต้องการในช่วงอายุ 2-3 วันแรก

ความถี่ของการให้นม

ควรให้นมแก่ลูกสุนัขและลูกแมววันละ 4 ครั้ง ที่เหมาะสมที่สุดควรห่างกันครั้งละ 6 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ การให้นมเมื่อเวลา 8.00 น. ,11.30 น., 15.30 น. และ 21.00 น. ก็ใช้ได้ผลดีเช่นกัน จะเป็นการดีถ้าให้นมปริมาณน้อยในแต่ละครั้งแต่ให้บ่อยๆ อย่างไรก็ตามพึงระลึกไว้เสมอว่า ลูกสัตว์เกิดใหม่ต้องการนอนเป็นเวลานาน ดังนั้นการปลุกลูกสัตว์ขึ้นมาให้อาหารจะทำให้ลูกสัตว์เครียดเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา และไม่พึงกระทำ และจะต้องเพิ่มนมให้ในกรณีที่ลูกสัตว์ไม่ยอมนอน กระวนกระวายส่งเสียงร้อง
ปริมาณน้ำนมที่เพิ่มให้ควรเป็น 1 มิลลิลิตร ต่อการให้ในแต่ละครั้งโดยเริ่มเพิ่มให้หลังจากให้ครั้งแรกแล้ว 36-48 ชั่วโมง หรืออีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลคือ อาจให้เพิ่มขึ้น 3 มิลลิลิตร (1/2-3/4 ช้อนชา) วันเว้นวัน สำหรับลูกแมวในอัตราเร็วของการเพิ่มควรช้ากว่าลูกสุนัข โดยอาจเพิ่ม 1 มิลลิลิตร ต่อวันหรือ 2 มิลลิลิตรวันเว้นวัน ปริมาณที่เพิ่มให้นี้จะใช้เป็นเกณฑ์ตราบเท่าที่ลูกสัตว์กินนมตามต้องการและอิ่มพอดี ถ้าเพิ่มถึงจุดที่ลูกสัตว์กินนมไม่หมด ควรคงระดับน้ำนมไว้ที่ปริมาณนี้ 1-2 วัน


การที่ลูกสัตว์มีน้ำหนักตัวลดลงในช่วงการให้นมทดแทน 2-3 วันแรก ถือเป็นเรื่องปกติ การเปลี่ยนสูตรส่วนผสมหรือการเพิ่มปริมารณน้ำนมคราวละมากๆ ควรค่อยๆ เปลี่ยนโดยใช้เวลา 3-4 วัน โดยเพิ่มปริมาณน้ำนมขึ้น 25% ทุกๆ วัน

อัตราการเพิ่มน้ำหนัก
อย่างน้อยที่สุดในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของชีวิต ควรมีการชั่งและจดบันทึกน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ในช่วง 5 เดือนแรกลูกสุนัขควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 100-200 กรัมต่อวัน ลูกแมวควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 50-100 กรัมต่อสัปดาห์
วิธีการเลี้ยงดูสุนัขชิห์สุ


หมาท้อง
อาหารที่เลี้ยงหมาที่กำลังตั้งท้องนั้นจะต้องมีคุณภาพสูง โปรตีนมาก ไขมันน้อย ขนาดและปริมาณที่ให้ในระยะ 6 อาทิตย์แรกของการตั้งท้องพอ ๆ กับใช้เลี้ยงดูหมาใหญ่ หรือหมาโตเต็มวัย ในประจำวัน แต่เราจะเพิ่มปริมาณอาหารให้มากขึ้นตามน้ำหนักตัวหมาในระยะ 3 อาทิตย์สุดท้ายก่อนคลอดคือ เพิ่มอาหารให้ปริมาณ 15-20 % ของน้ำหนักตัวแม่หมา
ก่อนคลอด 1 - 2 วัน แม่หมาบางตัวมักไม่ค่อยกินอาหารหรือไม่กินเลย เพราะมัวแต่หาสถานที่คลอดลูก โดยเฉพาะแม่หมาสาวท้องแรก ฉะนั้นอย่าตกใจจนเกินไป หลังคลอดแล้วก็จะกินอาหารเอง ข้อพึงระวัง อย่าขุนมหาจนอ้วนเกินไปจนไม่มีแรงในการเบ่งคลอดลูก



หมาแม่ลูกอ่อน
อาหารที่ใช้เลี้ยงหมาแม่ลูกอ่อนไม่ได้มีให้เฉพาะแม่หมาเท่านั้น มันต้องถ่ายทอดไปยังลูกหมาด้วย โดยการเปลี่ยนเป็นนม ฉะนั้นปริมาณอาหารที่แม่หมาจะกินต้องเพิ่มขึ้นโดยอาทิตย์แรกเพิ่มเท่าครึ่งจากปกติ อาทิตย์ที่ 2 เป็น 2เท่า และอาทิตย์ที่ 3 เป็น 3 เท่า

สิ่งที่ต้องเสริมเพิ่มเติมแก่แม่หมาได้แก่ แร่ธาตุ คือ แคลเซียม และฟอสฟอรัส เพราะสิ่งเหล่านี้จะถูกแตกออกไปนมแม่สู่ลูก ๆ ของมันในขณะเดียวกัน แม่หมาจึงมีปริมาณแคลเซียมที่ลดลงด้วย จนถึงระดับที่เกิดขาดแร่ธาตุที่เราเรียกว่า ภาวะแคลเซียมต่ำ แม่หมาแสดงอาการชัก เกร็ง น้ำลายไหลยืด ตัวร้อนจัด ฝรั่งเรียกว่า Milk Fever หรือไข้น้ำนม เมื่อเจ้าของพาไปหาหมอ หมอจึงฉีดแคลเซียมให้ อาการจะทุเลาลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ทางที่ดีควรมีการป้องกันไว้โดยการเพิ่มเติมแคลเซียมลงไปในอาหารแม่ลูกอ่อนตามคำแนะนำของหมอ พร้อมกับให้จากแหล่งอาหารธรรมชาติ คือ นม ซึ่งจะเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ดี


การเลี้ยงดูสุนัขขณะที่เป็นลูกสุนัข
ลูกหมาไทยที่จะนำมาเลี้ยงนั้นควรมีอายุ 2 เดือน หรือหย่านมแล้ว หรือถ้าโตกว่านี้ก็จะยิ่งเลี้ยงง่ายขึ้น เมื่อนำสุนัขเข้ามาอยู่ที่แห่งใหม่วันแรก ถ้าบ้านเลี้ยงสุนัขอยู่แล้วก็ควรให้สุนัขได้รู้จักกับสุนัขที่มีอยู่เดิมและให้สุนัขรู้จักสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างไปจากที่เดิม เพื่อให้คุ้นเคยกับที่อยู่ใหม่ เพราะนิสัยสุนัขจะอยากรู้อยากเห็นสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ มาก จึงควรปล่อยให้สุนัขเดินสำรวจสถานที่หรือสิ่งต่าง ๆ ตามลำพัง จะทำให้มันรู้สึกว่า สถานที่ใหม่เป็นสถานที่ที่อบอุ่นปลอดภัย ไม่น่ากลัวใด ๆ แต่สำหรับลุกสุนัขเล็ก ๆ บางตัวเมื่อเข้ามาอยู่ใหม่ จะมีปัญหาบ้าง เช่นมันจะหอนเพราะคิดถึงแม่และพี่น้องที่เคยเล่นกันมา เมื่อหิวก็หอน อาจทำให้รำคาญ เพราะหนวกหู วิธีการแก้ปัญหาลูกสุนัขหอน อาจนำสิ่งของที่ปูนอนในรังเก่าของลูกสุนัขมารองให้นอนในที่อยู่ใหม่ด้วย เพราะลูกสุนัขจะจำกลิ่นได้ และเข้าใจว่ายังอยู่ที่เดิม หรืออาจเลี้ยงสุนัข 2 ตัวอยู่ด้วยกัน เมื่อมีเพื่อนเล่นมันจะไม่เหงาและไม่ค่อยหอนโดยทั่วไปลูกสุนัขตอนเล็ก ๆ นิสัยเหมือนเด็ก จะชอบนอน ตื่นขึ้นมารู้สึก หิวก็ร้อง อิ่มก็นอน แล้วก็เล่น เมื่อโตขึ้นก็จะนอนน้อยลง ชอบตื่นขึ้นมากินและเล่นมากขึ้น จากนั้นก็จะคุ้นเคยกับความเป็นอยู่และสถานที่ใหม่
ลูกสุนัขเมื่ออายุได้ 4-5 เดือน ก็เริ่มถ่ายขนขนจะหยาบกว่าเดิม ฟันน้ำนมก็จะเปลี่ยนเป็นฟันแท้ มีเขี้ยวขึ้นทั้ง 4 เขี้ยว ทำให้คันปาก จึงชอบแทะสิ่งต่าง ๆ ในบ้าน ถ้าสุนัขกัดสิ่งของในบ้านควรทำโทษเพื่อให้เข็ดหลาบไม่ติดเป็นนิสัยควรหาของเล่น เช่น ลูกบอลเล็ก ๆ กัดแทะแทน ลุกสุนัขอายุ 4-6 เดือนจะชอบเล่นแทะ และซุกวนมาก กินอาหารเก่งอยากรู้อยากเห็นพออายุ 7-8 เดือน ก็จะเริ่มเข้าสู่วันหนุ่มสาว ถ้าเป็นตัวเมียก็จะเริ่มเป็นสัด ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่าให้ผสมพันธุ์กันในวัยนี้ อาจทำให้มันเสีย ถ้าจะให้ผสมพันธุ์ควรผลสมเมื่อมีอายุประมาณ 12-18 เดือนจะเหมาะสมมากกว่า

หมาโต
ในวัยนี้เราสามารถให้อาหารสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาดได้แล้วซึ่งอาหารสำเร็จรูปที่นิยมมี 2 แบบ คือ
อาหารแห้ง ส่วนใหญ่จะมีความชื้นต่ำมากคือ ไม่เกิน 10 % มักอัดอยู่ในรูปเม็ดทรงต่าง ๆ กัน ทำมาจากวัตถุดิบ คือ เนื้อวัว ม้า ไก่ หรือปลาป่น ฯลฯ บรรจุกล่องกระดาษ


อาหารเปียก มีความชื้นสูงประมาณ 65-70 % ทำมาจากเนื้อวัว เนื้อม้า และเนื้อปลา ยังคงมีรูปร่างเป็นก้อนเนื้อให้เห็น บรรจุกระป๋อง จะน่ากินกว่าแบบแห้ง

ทั้งสอแบบสามารถเทใส่ภาชนะให้สุนัขกินได้ทันที แต่หมาจะกินหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่งเพราะหมาบางตัวไม่ยอมรับอาหารเหล่านี้ จะเป็นเพราะกลิ่นหรือรสหรือความแข็งกระด้างก็เป็นได้ ดังนั้นจึงต้องมีการฝึกหัดให้กินก่อน โดยการหลอกล่อด้วยเล่ห์กล กล่าวคืออาจผสมอาหารสำเร็จรูปจำนวนเล็กน้อยลงในอาหารสำเร็จขึ้นไปทีละน้อย ทำบ่อย ๆ จนในที่สุดหมาตัวนั้น สามารถกินอาหารสำเร็จรูปล้วน ๆ ผู้เลี้ยงบางคนอาจว่าวิธีนี้ไม่ทันใจ ใช้วิธีเผด็จการ กินก็กิน ไม่กินก็อด จะอดได้ไม่นาน สุดท้ายก็ยอมกิน แต่ควรระวังจะเจอตัวที่ยอมอดเป็นอดตายเข้าจริง ๆ

หมาสูงอายุ
หมาสูงอายุจะมีร่างกายที่เริ่มเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา ดังนั้นการให้อาหารจึงควรที่จะให้ตามความเหมาะสมของวัยของสุนัข ซึ่งควรมีลักษณะเป็นอาหารที่ย่อยง่าย เช่นเนื้อที่ไม่มีพังพืด อาหารที่มีไขมันน้อย อาหารที่มีโปรตีนสูง เพื่อที่จะได้ไปเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอ ปริมาณที่ให้ก็ไม่ควรมากเกินไปเนื่องจาก หมาวัยนี้จะไม่กระฉับกระเฉง การวิ่งออกกำลังกายก็น้อยลงตามอายุ ฉะนั้นอาหารที่กินเข้าไปมาก ๆ นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้วยังก่อให้เกิดโทษ เช่น ท้องอืด แน่นเฟ้อ

อนึ่ง หมาที่แก่มาก ๆ อัตราการกินอาหารย่อมต่ำลงเป็นธรรมดา บางครั้งอาจกินวันละเพียงเล็กน้อย หรือกินบ้างไม่กินบ้างเจ้าของอาจให้อาหารเสริมเช่น อาหารสำเร็จรูป น้ำซุปและวิตามินต่าง ๆ เป็นการช่วยกระตุ้นความอยากอาหารและความแข็งแรงของร่างกายอีกทางหนึ่ง

การเลี้ยงสุนัขพันธุ์ชิห์สุ




การเลี้ยงดูสุนัขชิห์สุ

ความพร้อมในการเลี้ยงสุนัข


1. ความพร้อมของสถานที่ การเลี้ยงสุนัขต้องมีสถานที่หรือบริเวณสำหรับให้สุนัขวิ่งเล่นออกกำลังกายบ้าง อย่าปล่อยให้สุนัขอยู่ในที่แคบ สิ่งแวดล้อมไม่ดี มันจะรู้สึกซึมและส่งเสียงคราง อุปนิสัยผิดไป ดังนั้นผู้เลี้ยงสุนัขควรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสถานที่ให้พอเหมาะกับสุนัขด้วย


2. ความพร้อมของผู้เลี้ยง ผู้เลี้ยงควรสำรวจตัวเองเสียก่อนกว่า ชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างไร และมีเวลาให้กับสุนัขหรือไม่ เช่น ถ้าสถานที่แคบไม่มีบริเวณที่จะปล่อยให้สุนัขวิ่งเล่น แต่อยากจะเลี้ยงสุนัขมากจึงขังกรงเอาไว้ ก็จะไม่ได้อะไรขึ้นมา ผู้เลี้ยงจะได้รับเพียงเสียงเห่าที่หนวกหูเท่านั้น ผู้เลี้ยงต้อยมีเวลาพามันออกกำลังวิ่งเล่นบ้าง คอยฝึกสอนบางสิ่งบางอย่างที่เป็นพื้นฐานต่าง ๆ ให้สุนัข จะทำให้สุนัขที่เลี้ยงมีคุณค่ามากขึ้น เช่นการนั่งคอย การไหว้ ไม่ขโมยอาหารและกินมูมมาม



3. ความรัก การเลี้ยงดูสุนัขต้องมีความรัก ความจริงใจและเสมอต้นเสมอปลายด้วย เพราะบางคนนำสุนัขมาเลี้ยงขณะที่ยังเป็นลูกสุนัข มีความน่ารักขนปุกปุย ขี้เล่น แต่พอสุนัขโตขึ้นความน่ารักดังกล่าวก็จะค่อย ๆ หายไป นิสัยใจคอเปลี่ยนไป รูปร่างขนที่ปุกปุยก็จะหยาบ ขายาว ตัวโตขึ้น หมดความน่ารักลง ทำให้ไม่อยากเอาใจใส่และไม่เล่นกับมัน แต่สุนัขไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงนี้ยังคงทำในสิ่งที่เคยทำ เช่น อยากจะให้อุ้ม แล้วตะกุยตะกายให้อุ้ม แต่เรามักไม่เข้าใจก็ทำโทษมันด้วยความโมโหและรำคาญที่ถูกเล็บข่วนเป็นเป็นแผล หรือทำให้เสื้อผ้าสกปรก จึงทำโทษด้วยการดุหรือเฆี่ยนตี ทำให้สุนัขเข็ดกลัวไม่อยากเข้าใกล้ หรือคอยหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทำให้สุนัขที่เคยน่ารักหมดคุณค่าไป


4. ความเอาใจใส่ในชีวิตประจำวัน เมื่อสุนัขเกิดอาการไม่สบาย มันไม่สามารถบอกเล่าอาการต่าง ๆ ได้เหมือนคน จึงต้อยคอยสังเกต เอาใจใส่ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้สุนัขมีความเป็นอยู่ที่ดี นอกเหนือไปจากการให้อาหารและน้ำดื่มที่สะอาดแล้ว ต้องคอยสังเกตว่าสุนัขมีสุขภาพอย่างไร ในเรื่องของการขับถ่าย ท้องเสียหรือไม่ มีกิริยาท่าทางร่าเริงหรือหงอย ซึม ไม่สบาย มีแปล มีเห็บหมัดรบกวนหรือไม่ หากพบสิ่งผิดปกติต้องรีบช่วยเหลือทันที